โครงการพัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างกระบวนการทำงานในรูปภาคีเครือข่ายชุมชน

ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ

เหตุผลความจำเป็น

การเสริมสร้างพลังทางสังคมจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่จะเป็นกลไกช่วยให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามเป้าหมายโดยเฉพาะด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมโดยการดึงเอาพลังของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชนประชาสังคมชุมชนท้องถิ่นมาร่วมขับเคลื่อนการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการร่วมแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความต้องการระดับพื้นที่บนฐานองค์ความรู้และความเข้าใจในบริบทและสภาพปัญหาในเชิงลึกที่แท้จริงด้านความมั่นคงโดยการพัฒนาและเสริมสร้างสังคมและชุมชนให้มีความเข้มแข็งเพื่อให้เป็นหนึ่งในกลไกการแก้ไขปัญหาของประเทศแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนอื่น ๆ และด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์โดยการปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรมเพื่อให้คนไทยมีวิถีการดำเนินชีวิตและมีจิตสำนึกร่วมในการสร้างสังคมที่น่าอยู่เพื่อให้การพัฒนาประเทศมีส่วนร่วมจากชุมชนและสังคมและนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนเป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” [….]

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และมีเป้าหมายในการพัฒนาตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) โดยได้ดำเนินการร่วมกับหลายหน่วยงานพัฒนาอย่างจริงจังโดยเฉพาะในประเด็นการส่งเสริมความเป็นอยู่ของชุมชนหรือการยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้มีการไปส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การต่อยอดธุรกิจของชุมชน การสร้างช่องทางการตลาดให้ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีร้านค้าของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่จำหน่ายสินค้าของชุมชนที่มหาวิทยาลัยได้เข้าไปร่วมส่งเสริมอีกด้วย

ดังนั้นการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน และภาคประชาสังคม พร้อม ๆ ไปกับการที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน จึงจะดำเนินการในรูปแบบของการสร้างกิจการเพื่อสังคม Social enterprise (SE)  เพราะธุรกิจไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ไม่สามารถอยู่รอดได้ หากปราศจากสังคมที่ดี จึงสอดคล้องกับนโยบายในการพัฒนาท้องถิ่นของมหาวิทยาลัย และสอดคล้องกับกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมในปัจจุบัน ที่องค์กรธุรกิจต้องหันมาใส่ใจทั้ง 2 ประเด็นนี้มากขึ้น จึงทำให้เกิดแนวคิด เรื่อง Triples Bottom Line กล่าวคือ การบริหารจัดการที่ใส่ใจ “ผลกำไร สิ่งแวดล้อม และสังคม” ไปพร้อม ๆ กัน โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีจะจัดตั้ง “สวนบ้านแก้วธุรกิจชุมชน For U For Community” ซึ่งจะเป็นกิจการเพื่อสังคมที่จะทำหน้าที่เชื่อมโยงชุมชนผู้ผลิตและตลาดเข้าด้วยกันอย่างครบวงจรโดยอาศัยกระบวนการทำงานในรูปแบบเครือข่ายภาคีของทุกภาคส่วน โดยเริ่มจากการสำรวจความต้องการตลาด สำรวจความต้องการ/ปัญหา/ภูมิปัญญาของชุมชนร่วมกับชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนทั้งในด้านคุณภาพและรูปลักษณ์ภายนอกที่ยังคงเอกลักษณ์ภูมิปัญญาของชุมชน การเพิ่มองค์ความรู้เพื่อเสริมศักยภาพของชุมชน เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพโดยนำกำไรหมุนเวียนกลับมาเป็นทุนในการพัฒนาศักยภาพชุมชนซึ่งจะช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน [….]

วัตถุประสงค์โครงการ

  1. พัฒนากลไกและระบบสนับสนุนการบริหารจัดการเครือข่ายในระดับจังหวัดผ่านการระดมพลังความร่วมมือของรัฐ และภาคประชาชนในระดับจังหวัดในรูปแบบเครือข่ายภาคี
  2. พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
  3. พัฒนารูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจชุมชนให้มีศักยภาพ

กลุ่มเป้าหมายโครงการ

เกษตรกรกลุ่มเกษตรอินทรีย์ จังหวัดจันทบุรีและภาคี เครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน

สถานที่ดำเนินโครงการ

มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีและพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในจังหวัดจันทบุรี

วิธีดำเนินการ

  1. วางแผน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการพัฒนากลไกและระบบสนับสนุนการบริหารจัดการเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน
  2. พัฒนาธุรกิจของชุมชนในรูปแบบ Social Enterprise โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายโดยเริ่มจากการสำรวจตลาด สำรวจความต้องการ/ปัญหา/ภูมิปัญญาชุมชน จากนั้นจะเป็นการเพิ่มองค์ความรู้เพื่อเสริมศักยภาพของชุมชน นำปัญหา/ความต้องการ/ภูมิปัญญา ผนวกเข้ากับผลการสำรวจตลาด มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนทั้งในด้านคุณภาพและรูปลักษณ์ภายนอก พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและจัดทำแพลตฟอร์มสนับสนุนการบริหารจัดการธุรกิจของชุมชน และติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเป็นระยะรวมถึงการศึกษาดูงาน เพื่อนำความรู้มาพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานและผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น
  3. ถอดบทเรียน สรุป เผยแพร่กลไกและระบบสนับสนุนการบริหารจัดการเครือข่ายระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน

การประเมินโครงการ

  1. จำนวนภาคีเครือข่ายของกลุ่ม/องค์กรระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน ที่มีบทบาทในการเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา และการพึ่งพาตนเอง
  2. จำนวนผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการพัฒนาคุณภาพ
  3. จำนวนรูปแบบการบริหารจัดการธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพ

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

มีกลไกและระบบสนับสนุนการบริหารจัดการ/กระบวนการทำงานภาคีเครือข่ายระหว่างภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมทางสังคมเสริมสร้างทุนทางสังคมนำไปสู่การพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืน